Linux Hackers and Musicians
วันนี้วันอาทิตย์.. พักงานซักวัน ปล่อยความคิดไปเรื่อยเปื่อย..
คิดไปถึงชีวิตโปรแกรมเมอร์บนโลกโอเพนซอร์ส ที่ความหมายของคำว่า "free software" กับคำว่า "freeware" แทบจะไม่ต่างกันในทางปฏิบัติ.. ถึงแม้จะมีการพูดกันมาก ถึงความสำคัญของคำว่า "free" ในฐานะของ "เสรีภาพ" ไม่ใช่ราคา แต่ในที่สุดแล้ว "free software" อย่างลินุกซ์ ก็ยังหมายความถึง "OS ราคาถูกที่ดาวน์โหลดได้ฟรี" อยู่เนืองๆ
"มันมีอะไรไม่ถูกต้องแน่ๆ" เสียงบางอย่างบอกมาจากข้างใน เพราะโลกที่ซอฟต์แวร์ เปิดเสรีทุกอย่างมันเหมือนเป็น "GNUtopia" ที่ RMS ตั้งขึ้น แต่ความเป็นจริงก็คือ โปรแกรมเมอร์ก็เป็นคนในโลกทุนนิยม ข้าวยังต้องซื้อ บ้าน รถ น้ำ ไฟ ครอบครัว.. ทุกอย่างเป็นเงินหมด เงื่อนไขนี้ ทำให้โปรแกรมเมอร์ไม่สามารถออกจากงานประจำ มาช่วยกันพัฒนาลินุกซ์อย่างเป็นจริงเป็นจังได้.. หรือโครงการที่ลงทุนสูงๆ ก็ไม่ สามารถเปิดซอร์สได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ทุนที่เขาควักจ่ายไป ก็จะละลายหายไปทันที ทุกอย่างในการพัฒนาลินุกซ์จึงเป็นงานอดิเรก เป็นงานอาสาสมัคร หรือถ้าจะลงทุน ก็ต้องให้รัฐลงทุนเท่านั้น คำว่า "มืออาชีพ" ในวงการลินุกซ์ ยังคงสงวนไว้ให้คนขาย บริการ (support) คนเขียนตำรา อบรม คนขายซีดี หรือจากการขายของที่ระลึก ซึ่ง การขายของที่ระลึก จริงๆ แล้วก็เป็นการหารายได้ทางอ้อมมาจุนเจือโปรแกรมเมอร์ที่ ทำงานผลิตโปรแกรมออกมานั่นเอง เหมือนการหาเงินสนับสนุนชมรมเพื่อสังคม แต่ตัว โปรแกรมก็ยังไม่สามารถขายได้ด้วยตัวของมันเองอยู่ดี
RMS เคยเขียนเอาไว้ทำนองว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของคน หากแต่ เป็นเจตน์จำนงเสรีที่ขับดันให้คนสร้างงานคุณภาพออกมา ดังนั้น โปรแกรมเมอร์ใน GNUtopia จึงตัดตัวเองออกจากการขายโปรแกรมกิน แล้วให้ free software foundation จัดการเรื่องรายได้มาให้เขาเลี้ยงชีพอีกที
เช่นนั้นแล้ว โปรแกรมเมอร์ไทยเล่า.. ถ้าจะเขียน free software อย่างจริงจัง โดยไม่ต้องทำเป็นงานอดิเรกหรือคอยพึ่งพาภาครัฐล่ะ? จะมีทางออกอย่างไร? ตั้ง Thai Free Software Foundation? อืมม์.. ก็เป็นไปได้.. แต่มีทางอื่นอีกมั้ยนะ?
จะว่าไปแล้ว โปรแกรมเมอร์ใน GNUtopia ก็ละม้ายกับศิลปิน.. ทำงานด้วยวิญญาณ ด้วยใจรักอย่างแท้จริง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องปลดเปลื้องภาระทางการเงินของตัวเองด้วย คิดไปคิดมา ก็แวบไปถึง "ศิลปินเปิดหมวก" ที่พบเห็นตามป้ายรถเมล์ หรือที่สยามสแควร์ สนามหลวง.. เวลาเดินผ่าน "วณิพก" เหล่านี้ จะไม่เคยรู้สึกเลยว่าเขามาร้องเพลง ขอทาน หากแต่มาสร้างความสำราญแก่ผู้คน และก็ไม่เคยอ้อนวอนขอเงินจากคนดู ใครผ่านไปผ่านมา ชอบใจก็แวะฟัง ชอบมากก็ตกรางวัล เวลาให้ตังค์กับวณิพกพวกนี้ จะให้เพราะรู้สึกว่าสมควรให้ตามความพึงพอใจของเรา ไม่ใช่การบริจาคแต่อย่างใด
อืมม์.. ถ้าโปรแกรมเมอร์จะเปิดหมวกกันบ้าง จะมีคนดูตกรางวัลบ้างไหมนะ แล้วก็.. คงสามารถทำให้โปรแกรมเมอร์พึ่งพาการเขียน free software ได้มากขึ้น และเราก็ จะได้กำลังในการพัฒนาลินุกซ์ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปมากกว่านี้..
หมายเหตุ:
เทพ. (mailto:theps@links.nectec.or.th)