หนังสือสิบเล่มในดวงใจ
Posted on Saturday, October 4th, 2014 at 10:37 pmสคุณแฟน tag มา ก็ลองนั่งเขียนดู แล้วก็พบว่าการทำรายการหนังสือสิบเล่ม ยากกว่าการทำรายการนักเขียนสิบคนมาก เพราะผมมักจะชอบหนังสือหลาย ๆ เล่ม ของนักเขียนคนคนเดียวกัน ดังนั้นจะใช้วิธีการทำรายการหนังสือเล่มเด่นของนักเขียนที่ผมชอบแทนละกันนะครับ มีรูปประกอบเยอะหน่อย อวดชั้นหนังสือ 😛
ตะขอจำพราก:โกวเล้ง
อาจจะพูดได้ว่า ในช่วงวัยเด็กผมโตมาพร้อมกับโกวเล้ง จำได้ว่าเจอโกวเล้งครั้งแรกตอนไปช่วยครูทำห้องสมุดที่โรงเรียนประถม (ได้เป็นสมาชิกหมายเลข 0001 ด้วย) ซึ่งคงเป็นหนังสือที่คนเขาบริจาคมาให้ พอในห้องสมุดไม่มีให้อ่าน ก็เลยไปยืมอ่านที่ห้องสมุดประชาชนลำพูน (สมัยก่อน อยู่บริเวณกาดโต้รุ่งในปัจจุบัน ก่อนจะย้ายไปอยู่แถวหลังโรงเรียนจักรคำ) แล้วพอที่ห้องสมุดไม่มีให้อ่านแล้ว ก็เลยไปเช่าอ่านจากร้านเช่าหนังสือด้านตรงข้ามห้างแจ่มฟ้าพลาซ่า จำได้ว่าอ่านหนังสือโกวเล้งจนหมดร้านกันเลยทีเดียว หนังสือของโกวเล้งมีความเป็นหนังสือกำลังภายในแบบดั้งเดิมน้อยมาก ไม่เน้นความหวือหวาของวิทยายุทธิ์ หรือว่าการวางทัพ แต่เป็นหนังสือที่เน้นความหนักอึ้งของอารมรณ์ หรือที่นิยายฝรั่งจะบอกว่ามันคือชะตากรรมของการเป็นมนุษย์ที่ต้องสู้กับจิตใจตัวเอง ว่าไปนั่น
หนังสือของโกวเล้งที่ชอบมากที่สุด ก็คงเป็นเรื่อง ตะขอจำพราก ในชุดอาวุธของโกวเล้ง ด้วยเรื่องราวที่รวบรัดสามัญ แต่ก็เป็นเรื่องราวที่เรายากที่จะกลืนมันลงไปเช่นกัน เรื่องในชุดนี้ชอบทุกเล่ม ส่วนชุดที่ชอบรอง ๆ ก็เช่น จับอิดนึ้ง เซียวลี้ปวยตอ เป็นต้น
Rendezvous with Rama: คลาร์ค
ถ้าวัยเด็กของผมโตมาพร้อมกับโกวเล้ง วัยรุ่นผมก็คงโตมาพร้อมกับอาซิมอฟและคลาร์ค ผมตะลุยอ่านหนังสือของสองคนนี้ตอนเรียนมัธยมปลายกับเรียนมหาวิทยาลัย ตอนมัธยมปลายก็ไปอ่านที่ห้องสมุดโรงเรียน ส่วนมหาวิทยาลัยก็เช่าอ่านบ้าง ยืมห้องสมุดอ่านบ้าง สองคนนี้เป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับกันว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในวงการนิยายนักวิทยาศาสตร์ (ซึ่งมีกันสามคน คนที่สามคือ ไฮน์เลน์ ซึ่งผมไม่ค่อยได้อ่านเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่แนว) สองคนนี้เขียนนิยายคล้าย ๆ กัน แต่ความแตกต่างกันตรงที่ นิยายของคลาร์คส่วนใหญ่จะเป็นส่วนผสมระหว่างการเดินทางไปในอวกาศและการสำรวจจิตใจของมนุษย์ แต่อาซิมอฟจะเน้นการผสมผสานวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ การเมืองการปกครองอะไรพวกนั้น ทำให้เวลาอ่านนิยายของคลาร์ค เราจะคอยตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ไปเรื่อย ๆ (ซึ่งเป็นแบบเดียวกับการอ่านโกวเล้ง) ในขณะที่เวลาอ่านอาซิมอฟเราจะคอยคิดว่า นี่มันกำลังอ้างอิงประวัติศาสตร์โลกอยู่ใช่ไหม (เห็นชัด ๆ คือในชุดสถาบันสถาปนา) ซึ่งทำให้ลึก ๆ แล้ว ผมชอบคลาร์คมากกว่า ในแง่หนึ่ง มันก็จะเหมือนกับที่ผมชอบ Star Trek มากกว่า Starwar เพราะในขณะที่ Starwar มันคือ ลิเกอวกาศ แต่ Star Trek ถึงแม้ว่ามันจะเป็นนิยายอวกาศ แต่จริง ๆ ในทุก ๆ ตอน มันคือการเข้าไปสำรวจจิตใจของมนุษย์ต่างหาก (อยากเขียนเล่าถึง Star Trek และความเป็น ยานสำรวจอวกาศ (Space exploratory vessel) ไม่ใช่ยานรบ (Battleship) ของมัน)
สำหรับนิยายของสองคนนี้ ที่ผมชอบที่สุดคือชุด Rendezvous with Rama ของคลาร์ค รองลงมา ก็คือสถาบันสถาปนาของอาซิมอฟ
ชี้ค:ประภัสสร เสวิกุล
ในช่วงมัธยมปลาย ผมอ่านนิยายของคุณประภัสสร เสวิกุลเยอะมาก เล่มแรก ๆ ที่อ่านน่าจะเป็น ชี้ค สิ่งที่ชอบในนิยายของคุณประภัสสรคือการผสมระหว่างการตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ การตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างคน และการตัดสินใจของมนุษย์ อาจจะพอเริ่มเดาได้ว่าผมชอบอ่านนิยายแบบไหน (ฮา) แต่พอโตขึ้น เรียนจบ ก็ไม่ได้อ่านนิยายของคุณประภัสสรอีกเลย นักเขียนที่เขียนนิยายที่คล้าย ๆ กันที่ชอบอ่านคือของคุณศิเรมอร อุณหธูป และคุณจันทรำไพ
นิยายของคุณประภัสสรที่ชอบมากที่สุดคือ ชี้ค เคยเขียนรีวิวสั้น ๆ ไว้ที่นี่
The Third Wave:อัลวิน ทอฟเลอร์
ในช่วงปลายของการเรียนมหาวิทยาลัย ผมหันเหจากการตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ไปสู่ความสนใจของโลกในนี้ ช่วงนี้ผมจะอ่านหนังสือหลายแนว นับตั้งแต่หนังสือของอาจารย์สุวินัย อาจารย์ชัยอนันต์ ลุงฟุกุโอกะ และ อื่น ๆ แต่หนังสือที่ตื่นตาตื่นใจผมมาก คือหนังสือคลื่นโลกที่สามของอัลวิน ทอฟเลอร์ เพราะเป็นหนังสือที่กว้างมาก อธิบายความเป็นไปของโลกในหลากแง่มุมโดยใช้กรอบแนวคิดเดียวในการอธิบายได้น่าสนใจมาก ผมไปตามอ่านหนังสือของเขาอีกหลายเช่ม เช่น Future Shock, Power Shift และอื่น ๆ รวมถึงหนังสือของคนอื่น ๆ เช่น Being Digital ของเนโกรปอนเต้ Global Paradox ของเนสบิต เป็นต้น แทบจะเรียกได้ว่า ช่วงนั้นของชีวิต ผมไม่ได้อ่านนิยาย แล้วมาอ่าน non-fiction อย่างเดียวเลยเกือบสิบปีเหมือนกัน จนถึงปัจจุบันผมก็ยังชอบอ่านหนังสือแบบนี้อยู่ ล่าสุดที่กำลังเก็บสะสมอยู่คือชุดประวัติศาสตร์ของการกินได้ที่มติชนพิมพ์ออกมา
ปรัชญาชีวิต:คาริล ยิบราน
ผมอ่านหนังสือของคาริล ยิบรานเล่มแรก คือเรื่อง สวนศาสดา คิดว่าเป็นหนังสือของพ่อเพราะว่าไปเจอที่บ้าน ควรจะเล่านิดหนึ่งว่า เนื่องจากพ่อกับแม่เป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว ที่บ้านเลยมีหนังสือเยอะมากทั้งหนังสือเรียนและไม่ใช่หนังสือเรียน ตอนเด็ก ๆ ของเล่นก็ไม่ค่อยมี ก็อ่านหนังสือเอา ไล่อ่านหนังสือที่อยู่ในบ้านนั่นแหละ เวลาไปข้างนอก ถ้าจะซื้อหนังสือ พ่อก็จะซื้อให้เสมอไม่มีต่อรอง แต่ถ้าอยากได้ของอย่างอื่นก็ต้องเก็บตังค์ซื้อเองจ้าาา สำหรับหนังสือสวนศาสดา อ่านแรก ๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก แต่ก็ไปหาเล่มอื่น ๆ มาอ่าน จนไปเจอ ปรัชญาชีวิต อาจจะด้วยว่าช่วงนั้นโตขึ้นบ้าง ก็เลยเริ่มเข้าใจในบางประเด็น และก็เริ่มชอบ จำได้ว่าตอนเรียนมัธยม เคยไปดูละครกลางแจ้งเรื่องนี้กับเพื่อนที่แถวแม่ริม คนที่แสดงเป็นอัลมุสตาฟาคือคุณศรัณยู วงษ์กระจ่าง ส่วนอัลมิตรา แสดงโดยสินจัย หงษ์ไทย ความประทับใจสำหรับการแสดงในครั้งนั้นคือ คนแสดงจำบทพูดได้ไง(ฟะ) เพราะทั้งเรื่องเป็นการพูดคุยกันทั้งเรื่อง นับว่าแสดงกันได้มหัศจรรย์มาก แล้วก็เริ่มทำให้ไปหาหนังสือแนว ๆ นี้มาอ่านอีก เช่น รุไบยาต หรือ โจนาทาน ลิฟวิงสตั้น นางนวล เป็นต้น
เมื่อโตขึ้น ก็กลับไปอ่านหนังสือเล่มนี้อีกเรื่อย และทุกครั้งเราก็จะตีความหมายของสิ่งที่พูดในหนังสือเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามแต่ว่าในชีวิตเราจะเจออะไรมาบ้าง เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเราบ้าง ทำให้เมื่อเรามองย้อนกลับไปในชีวิต ผ่านหนังสือเล่มนี้ เราก็มักจะอมยิ้มแทบทุกครั้ง
คู่มือมนุษย์:พุทธทาสภิกขุ
ตอนเด็ก ๆ มีคุณป้าที่มีนิตยสารเกี่ยวกับศาสนาพุทธเช่น โลกทิพย์ อยู่เยอะมาก และผมก็ชอบไปอ่าน แต่อ่านแบบนิยายนะครับ เพราะเขาจะเน้นปาฏิหารย์ค่อนข้างมาก ช่วงนั้นก็เลยไม่ได้สนใจในศาสนาพุทธแบบเถรวาทในบ้านเราสักเท่าไหร่ แล้วพอเรียนมัธยม ผมสนใจปรัชญาเซน จริงๆ ก็ตามสมัยนิยม สะสมหนังสือเป็นตั้ง ๆ ด้วยความหมดจดเรียบง่ายของมัน แต่จะว่าไป ก็อ่านแบบอ่านสนุก ๆ มากกว่าจะอ่านเพื่อให้ได้สาระอะไร เพราะเซนก็บอกเองกว่า เซนสอนกันไม่ได้ต้องพบด้วยตัวเอง พออ่านเยอะ ๆ ก็เลยร้างราไป แต่เมื่อเรียนจบ ผมก็เริ่มมาสนใจศาสนาพุทธผ่านหนังสือและธรรมบรรยายของท่านพุทธทาส ท่านปัญญานันทภิกขุ และ ท่านป.อ. ปยุตฺโต แต่ที่ได้อ่านเยอะจริงๆ เพราะหนังสือของท่านเยอะมาก ก็คือท่านพุทธทาสภิกขุ สิ่งที่เรียนรู้จากท่านพุทธทาสก็คือความเรียบงานและตรงไปตรงมาของพุทธศาสนา แต่ความเรียบง่ายนี่แหละ ที่ปฏิบัติได้ยาก ต้องใช้ความอดทนที่มากพอ ซึ่งผมก็ทำได้บ้างทำไม่ได้บ้าง ตามเรื่องตามราว แต่ก็ยังตั้งใจที่จะปฏิบัติอยู่ และเริ่มอ่านหนังสือของทางฝั่งพระอีสานมากขึ้นด้วย
หนังสือของท่านพุทธทาสที่ชอบก็มีหลายเช่ม เช่น คู่มือมนุษย์ สูตรเว่ยหล่าง แก่นพุทศาสน์ แต่เล่มที่ชอบที่สุดก็คงเป็น คู่มือมนุษย์ นั่นเอง
ผมได้จัดทำหนังสือทางศาสนาพุทธเป็น EBook ที่อ่านในเครื่องอ่าน EBook หรือว่าแทบเลตได้ง่ายอยู่หลายเล่มเหมือนกัน เชิญดาวน์โหลด์ได้เลยครับ
เจ้าชายน้อย:อังตวน เดอ แซงแตกซูเปรี
ในช่วงที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ ผมจะต้องมีหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อย และ ซีดีภาพยนต์เรื่อง Shawshank Redemption อยู่ใกล้ตัว (ทุกครั้งที่หวนระลึกถึงชีวิตในช่วงนั้น ก็จะอมยิ้มทุกครั้ง) ชีวิตในช่วงนั้น เป็นชีวิตที่เหมือนไหลไปตามน้ำ โดยไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งในช่วงหนึ่งของชีวิตทำแบบนั้นมันไม่มีปัญหาอะไร เพราะชีวิตมันยังอีกยาวไกล และยังไม่มีเรื่องให้ห่วงมากนัก แต่ด้วยความไร้แก่นสารของชีวิต บางครั้งก็อยากจะยึดโยงอะไรไว้บ้าง เจ้าชายน้อย และ แฟรงค์ ดาราบอง ก็เลยเป็นคนที่เรายึดไว้ (ฮา) สำหรับเจ้าชายน้อย ก็เช่นเดียวปรัชญาชีวิต ก็คือเมื่อเราเติบโต เรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ เราก็จะตีความหมายถึงเรื่องราวในเรื่องแตกต่างกันออกไป ทำให้ทุกครั้งที่หยิบหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมา เราก็มักจะถามตัวเองว่า คราวนี้ เราจะคุยกับเจ้าชายน้อย หมาป่า และ ดอกกุหลาบว่าอย่างไรดี
หนังสือของ แซงแตกซุเปรีอีกเล่มที่ผมชอบมากคือ Wind, Sand and Star หรือ Terre des hommes ที่มีแปลเป็นไทยแล้ว ชื่อว่า แผ่นดินของเรา ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมเชื่อว่าเป็นหนังสือที่เปลี่ยวเหงามากที่สุดเล่มหนึ่ง เวลาอ่านต้องอ่านทีละสามหน้า อ่านมากกว่านั้นไม่ไหว
ความรักและปีศาจตนอื่น ๆ :การ์เบรียล การ์เซีย มาเกวซ
การพบกับมาเกวซ ก็เหมือนกับการเห็นจานบินลอยลงมาจากท้องฟ้า นั่นคือมันเป็นความมหัศจรรย์โดยแท้จริง นักเขียนนิยาย (หรือนักสร้างหนัง) หลายคนที่พยายามสร้างงานแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ มักจะสร้างงานที่รู้สึกว่ามหัศจรรย์ แต่มันไม่จริง อาจจะด้วยความที่พวกเขายกความมหัศจรรย์ให้มันเด่นเกินไป และทำให้ความมหัศจรรย์เป็นความมหัศจรรย์ ซึ่งทำให้งานของพวกเขาเป็นได้เพียงงานมหัศจรรย์ (Magical) แต่ไม่แท้ (Realism) แต่สำหรับงานเขียนของมาเกวซนั้น เราไม่รู้สึกถึงความมหัศจรรย์ของมันเลย ถึงแม้เขากำลังเล่าถึงเมืองที่ฝนตกติดต่อกันสี่ปี เราก็ไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องแปลกอะไร เพราะเขาเล่าเหมือนกับมันเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นประจำที่อเมริกาใต้ และนั่นแหละ คือความมหัศจรรย์ที่แท้จริง
ความจับใจของความรักและปีศาจตนอื่น ๆ คือมันเป็นเรื่องของความรักที่เป็นทั้งความงามและปีศาจไปพร้อม ๆ กัน
อีกคนหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเขียนได้ในลักษณะนั้นคือมุราคามิ หลัง ๆ เลยอ่านหนังสือของมุราคามิไปหลายเล่ม และชอบที่เป็นเรื่องสั้นมากกว่าเรื่องยาว
ลักษณ์อาลัย: อุทิศ เหมะมูล
อุทิศ เหมะมูล อติภพ ภัทรเดชไพศาล และ ปรีดี หงษ์สต้นคือเหตุผลที่ผมเริ่มกลับมาอ่านนิยายไทยอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้อ่านมาหลายปี สำหรับในกลุ่มนักเขียนที่ผมกลับมาอ่านช่วงหลัง ๆ หนังสือของคุณอุทิศ เหมะมุลมีวิธีการเล่าที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผม บางครั้งผมจะรู้สึกว่านักเขียนรุ่นใหม่ ๆ เน้นเทคนิคการเขียนมากเกินไป หรือว่าตั้งใจใช้พลอตที่แปลกประหลาดมากเกินไป ทำให้อ่านไม่สนุกเท่าไหร่ แต่คุณอุทิศเขียนหนังสือได้ดูธรรมดาแต่สนุกมาก
ตอนนี้ก็เลยพยายามไปหาหนังสือเรื่องอื่น ๆ มาอ่านอีกเรื่อย ๆ ช่วงนี้ก็กลับไปอ่านหนังสือของคุณกนกพงศ์ตามคุณแฟน จำได้ว่าเคยอ่านบ้างบางเล่มสมัยเรียนหนังสือ แล้วก็ไม่ได้อ่านอีกเลย ก็ทยอยอ่านไปเรื่อย ๆ ครับ หนังสือของคุณกนกพงศ์ หรือว่าของคุณอุทิศ ต้องอ่านช้า ๆ ละเมียดไปเรื่อย ได้กาแฟดำสักแก้ว ก็เยี่ยมเลย 🙂
ก็องดิด : วอลแตร์
ส่วนที่ผมชอบที่สุดของหนังสือเล่มนี้คือตอนจบ “ท่านกล่าวได้ดีแท้”ก็องดิดตอบ “ทว่า เราควรทำสวนของเรา” (สำนวนแปลของคุณวัลยา วิวัฒน์ศร) ครั้งแรกที่อ่านก็องดิดน่าจะเป็นตอนเรียนมัธยม ด้วยท่าทีแบบประชดเสียดสีทำให้อ่านได้สนุกมาก แต่พอมาเจอตอนจบ ผมนี่วางหนังสือแล้วลุกไปทำการบ้านเลยครับ
ชื่อหนังสือของอาสิมอฟกับคลาร์กสลับแล้วครับ lol
อายจัง แก้ละครับ
เจ้าชายน้อย!